มารู้จักน้ำยาเช็ครอยร้าวหลังการเชื่อมกัน

        

โดยปกติหลังจากช่างเชื่อมได้เชื่อมงานเรียบร้อยแล้ว หากเป็นงานที่ต้องการความละเอียดมากๆ จำเป็นต้องตรวจสอบว่ามีรอยร้าวหรือไม่ เพราะระหว่างทำการเชื่อมอาจมีปัจจัยบางอย่างเข้ามากระทบ ทำให้รอยเชื่อมไม่สมบูรณ์ ดังนั้นวิธีการที่จะตรวจสอบว่ามีรอยร้าวของแนวเชื่อมหรือไม่ ผมขอแนะนำน้ำยาสำหรับตรวจสอบรอยร้าว ซึ่งมีด้วยกัน  3 กระป๋อง สีฟ้า สีแดง และสีขาว โดยน้ำยาชนิดนี้ สามารถตรวจสอบรอยรั่วที่เราไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ขั้นตอนในการใช้งานดังนี้

        ขั้นตอนที่ 1 ทำความสะอาดชิ้นงานให้สะอาด

        ขั้นตอนที่ 2 ฉีดน้ำยาทำความสะอาดผิวงาน cleaning (กระป๋องสีฟ้า)

        หลังจากฉีดน้ำยา Cleaning แล้ว ให้เช็ดทำความสะอาดชิ้นงานให้แห้งอีกครั้ง

        ขั้นตอนที่ 3 ฉีดน้ำยาแทรกซึม Penetration (กระป๋องสีแดง)

        ฉีดน้ำยา Penetration ลงบนชิ้นงาน โดยให้ห่างจากชิ้นงานประมาณ 20-30 ซม. รอให้น้ำยาซึมซาบประมาณ 2-3 นาที หากต้องการผล ที่แน่นอนควรทิ้งไว้ 3-6 นาที (วัตถุที่จะทำการตรวจควรอยู่ในอุณหภูมิประมาณ 10-40 องศาเซลเซียส หากใช้น้ำยาบริเวณที่มีอากาศเย็นและอยู่กลางแจ้ง ควรฉีดซ้ำประมาณ 2 ครั้ง)

        ขั้นตอนที่ 4 เช็ดทำความสะอาดผิวงาน Cleaning (กระป๋องสีฟ้า)

        หลังจากฉีดน้ำยา Penetration แล้วให้ล้างคราบสีแดงออก โดยฉีดน้ำยา Cleaning ลงบนผ้า, กระดาษทิชชู หรือล้างด้วยน้ำ หากทำความสะอาดผิวหน้าของวัตถุที่ต้องการตรวจสอบไม่หมดจะทำให้ผลการตรวจสอบไม่ดี 

        ขั้นตอนที่ 5 ฉีดน้ำยาเร่งปฏิกริยา Development (กระป๋องสีขาว)

        ฉีดน้ำยาเร่งปฏิกริยาลงบนผิวงานที่ได้เช็ดคราบน้ำยาสีแดงออกจนหมด หากมีรอยร้าวเกิดขึ้นบนชิ้นงาน จะเกิดคราบสีแดงขึ้นตามแนวรอยรั่ว เพียงเท่านี้เราก็สามารถตรวจสอบแนวเชื่อมที่ไม่สมบูรณ์ได้ เพื่อปรับปรุงแก้ไขชิ้นงานต่อไป